สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย แนะ 12 แนวทาง เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู สื่อสารสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 (COVID-19)
นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เสนอให้จัดตั้งแคมเปญพัฒนาประเทศ ศึกษาเชิงลึก และสร้างโอกาสตามบริบทใหม่ ภายใต้ 12 แนวทาง เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู สื่อสารสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 (COVID-19)
ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้แถลงเพื่อเสนอให้จัดตั้งแคมเปญพัฒนาประเทศ ในการศึกษาเชิงลึก สร้างโอกาสสำหรับวางกรอบแนวคิดการพัฒนาใหม่ 12 ประเด็น เพื่อการเยียวยา ฟื้นฟู ประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) ที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต้องร่วมกันทบทวนภารกิจที่วางไว้เดิม เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนของภารกิจที่วางไว้เดิม ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งด้านนโยบาย แนวทางการสนับสนุน การประชาสัมพันธ์ และ กิจกรรมส่งเสริมให้เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ผลที่เกิดขึ้นจากผลกระทบและบริบทใหม่ทางการสื่อสาร สังคม อย่างจริงจังภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน
จากปัญหาของวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้ง ผู้ประกอบการ องค์กร หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจของเอกชนต้องทยอยปิดกิจการหรือชะลอธุรกิจ ขณะที่ผลของการถูกเลิกจ้างงาน ส่งผลให้พนักงานบริษัท โรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า กลุ่มภาคประชาชนได้เรียกร้องความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับประชากรทั่วโลก ผลจากวิกฤตทางด้านสุขภาพ ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม การปิดตัวของกิจการในหลายธุรกิจ การไม่สามารถประกอบอาชีพได้เช่นการปิดโรงเรียน บริษัท ห้างร้าน โรงแรม ตลาด แหล่งท่องเที่ยว สถานบริการ การประกอบการในหลายธุรกิจ ส่งผลให้ประชาชนขาดรายได้ ตกงาน ทำให้รายได้ของประเทศไทยลดลง ในปริมาณนับล้านล้านบาทในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน ยอดคนว่างงานสูงขึ้นหลายล้าน จำนวนผู้ได้รับผลกระทบในมิติต่างๆ อีกหลายล้านคน นอกจากภาคประชาชนแล้วรัฐบาลต้องช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ เกิดสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณมาใช้ด้านการจัดการสุขภาพประชาชน และการเยียวยาผู้คนจำนวนมาก โดยรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงหาการกระตุ้น ฟื้นฟู กับสถานการณ์และผลกระทบยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวิกฤตดังกล่าวจะยืดเยื้อ ยาวนาน และสามารถสงบลงเมื่อใด โดยคาดว่าผลกระทบอาจส่งผล 5-10 ปี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษา รวบรวมผลกระทบเชิงลึก และวางกรอบให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ ทั้งของประชากร เทคโนโลยีและสังคม จึงเป็นสิ่งที่ต้องรวบรวมและจัดทำในคราวเดียวกัน
การประชาสัมพันธ์ เพื่อฟื้นฟู เยียวยาสร้างความเชื่อมั่นยังเป็นเครื่องมือสำคัญ
ทั้งนี้ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทยเชื่อมั่นว่า การประชาสัมพันธ์ เพื่อฟื้นฟู สร้างความเชื่อมั่นเครื่องมือสำคัญทั้งในยามวิกฤต และหลังวิกฤต แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะที่ถดถอย เนื่องจากหลายปัญหาที่ทับถมอยู่ ยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันที ขณะเดียวกันภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างมีการปรับกลยุทธ์ แผนธุรกิจรองรับ และเป้าหมายทางการตลาดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่ชะลอตัวมาในระยะเวลาหนึ่ง
แต่จากประสิทธิภาพของการควบคุมโรคและการจัดการที่จริงจัง อาจทำให้ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อการส่งผลดี ทั้งต่อการขยายตัวสำหรับการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่เอื้อต่อการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนจากประเทศต่างๆ ประกอบกับจุดแข็งทั้งทางด้านทรัพยากรของประเทศ แรงงานที่มีความรู้ ทักษะเฉพาะของแต่ละวิชาชีพที่โดดเด่นของไทย มีแนวโน้มที่ได้เกิดการยอมรับที่มากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการทบทวนนโยบายตามบริบทใหม่ จัดทำแคมเปญพิเศษในการฟื้นฟูประเทศ ภายใต้ 12 แนวทาง พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบและการสร้างโอกาสเชิงลึกเพื่อฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่น สื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้กับประเทศที่ต้องกำหนดแนวทางการสนับสนุน ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตามบริบทใหม่ทางการสื่อสาร สังคม ให้เกิดความชัดเจน ทันเหตุการณ์ และเป็นรูปธรรม
12 ประเด็น ในการศึกษาเชิงลึก เพื่อทบทวนการพัฒนาสร้างโอกาสตามบริบทใหม่ เพื่อฟื้นฟู เยียวยา สื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ
1. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านศักยภาพการจัดการ กรอบ นโยบาย ความสามารถในการจัดการของภาครัฐ การปราบปรามอาชญากรรม สวัสดิภาพประชาชนและความโปร่งใสของรัฐ
2. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านนโยบายเศรษฐกิจ การเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเงิน
3. การสร้างความเชื่อมั่น การเยียวยาทางด้านอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการการลงทุน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการสาธารณสุข และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
5. การสร้างความเชื่อมั่น การเยียวยา และการสร้างโอกาสทางด้านเกษตรกรรม
6. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี ในการต่อยอดธุรกิจ และการดำรงชีวิต
7. การสร้างความเชื่อมั่น การส่งเสริมทางด้านศักยภาพของผู้ประกอบการ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การฟื้นฟูกิจการทั้งในขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ที่เป็นรูปธรรม
8. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการพัฒนา ฟื้นฟู เยียวยา เสริมศักยภาพธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และนานาชาติ
9. การสร้างความเชื่อมั่น เยียวยาภาคประชาชน แรงงาน แรงงานคุณภาพ รายได้ การเพิ่มทักษะและการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
10. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านนโยบายเพื่อจัดการ ส่งเสริม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ชัดเจน
11. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการพัฒนาโครงสร้างชุมชนให้แข็งแรง ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนและการตลาด
12. การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านสังคม การสื่อสาร ค่านิยม สภาพสังคม วิถีชีวิต ศาสนาศิลปวัฒนธรรม และบรรยากาศโดยรวมของประเทศ ที่ตรงกับบริบทของประชากร รูปแบบการดำรงชีวิต ในปัจจุบัน
ในส่วนของการสื่อสารและประชาสัมพันธ์นั้น สมาคมประชาสัมพันธ์ไทยมองเห็นว่า จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กร มากกว่าการใช้เครื่องมืออื่นๆ แต่จะมีรูปแบบ พัฒนาการ ที่แตกต่างจากเดิม การประชาสัมพันธ์ที่เป็นการบริหารข้อมูลข่าวสาร เป็นการจัดลำดับประเด็น เนื้อหาเพื่อการสร้างความผูกพันต่อแบรนด์ การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย ด้วยการสื่อข้อมูลต่างๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ รวดเร็ว ทั้งประชากรในประเทศและระดับโลก ด้วยการกำหนดประเด็น ออกแบบเนื้อหา ข้อมูล การวางกลยุทธ์การสื่อสารทั้งช่องทางที่มีอยู่เดิม และผ่านเครือข่ายดิจิทัลที่เหมาะสม
การกำหนดแนวทางส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม แล้วเร่งสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายหลักทั้งภายในและภายนอกประเทศ ร่วมกับการใช้เครื่องสื่อสารทางการตลาดมากขึ้น การมีความพร้อมต่อการบริหารความเสี่ยงต่อภาวะวิกฤต ที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่ต้องเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อถือ การยอมรับ ต่อสาธารณชน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเชื่อมั่นทางด้านการเมือง หากมีทางออกที่มีความชัดเจน แม้จะเป็นในระยะสั้นก่อนก็ตาม ก็จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น รวมถึงปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวของประเทศที่มีอยู่ จะก่อให้เกิดการตัดสินใจ การลงทุน การขยายตัวทางธุรกิจ ที่จะส่งผลให้การเติบโตของหลายภาคส่วนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นได้ เร็วขึ้นตามลำดับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น